วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย

การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย
1. การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ควรปรับสภาพน้ำในบ่อที่เลี้ยงให้มีสภาพเป็นกลางหรือด่างเล็กน้อย แต่ต้องแน่ใจว่าบ่อซีเมนต์จะต้องหมดฤทธิ์ของปูนระดับน้ำในบ่อเมื่อเริ่มปล่อยลูกปลาขนาด 2 - 3 ซม. ควรมีความลึกประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร เมื่อลูกปลาเติบโตขึ้นค่อย ๆ เพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้นตามลำดับโดยเพิ่มระดับน้ำประมาณ 5 ซม./อาทิตย์ ให้อาหารเม็ดประมาณ 3 - 7 เปอร์เซนต์ ของน้ำหนักตัวปลาโดยปล่อยปลาในอัตรา 50 - 70 ตัว/ตรม.ปลาจะเติบโตได้ขนาดประมาณ 00 - 200 กรัม/ ตัว ในระยะเวลาสั้น ประมาณ 90 วัน อัตราการรอดประมาณ 80 % ซึ่งอาหารที่ใช้เลี้ยงสามารถให้อาหารชนิดต่าง ๆ ทดแทนอาหารเม็ดได้ โดยใช้อาหารพวกไส้ไก่หรือปลาเป็ดผสมกับเศษอาหารก็ได้ แต่จำเป็นต้องถ่ายเทน้ำ เพื่อป้องกันน้ำเสียบ่อยกว่า การถ่ายเทน้ำเมื่อเลี้ยงด้วยอาหารเม็ด

2. การเลี้ยงในบ่อดิน การเลี้ยงในบ่อดินนั้น จะต้องเตรียมบ่อตามหลักการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่ว ๆ ไป ดังนี้

1. จะต้องตากก้นบ่อให้แห้ง ปรับสภาพก้นบ่อให้สะอาด
2. ใส่ปูนขาว เพื่อปรับสภาพของดินโดยใส่ปูนขาวในอัตราประมาณ 60 - 100 กก./ไร่
3. ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อให้เกิดอาหารธรมชาติสำหรับลูกปลาในอัตราประมาณ 40 - 80 กก./ไร่
4. นำน้ำในบ่อโดยกรองไม่ให้ศัตรูของลูกปลาติดเข้ามากับน้ำ จนมีระดับน้ำลึก 30 - 40 ซม. หลังจากนั้นรุ่งขึ้นจึงปล่อยปลา และเพื่อให้ลูกปลามีอาหารกิน ควรเติมไรแดง ในอัตราประมาณ 5 กิโลกรัม / ไร่ เพื่อเป็นอาหารแก่ลูกปลา หลังจากนั้นจึงให้อาหารผสมแก่ลูกปลาที่นำมาเลี้ยงควรตรวจดูว่ามีสภาพปกติ การปล่อยลูกปลาลงบ่อเลี้ยงจะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำในถุงและน้ำในบ่อให้ เท่า ๆ กันก่อนโดยการแช่ถุงบรรจุลูกปลาในน้ำประมาณ 30 นาที จึงปล่อยลูกปลาควรเป็นตอนเย็นหรือตอนเช้า

ขั้นตอนการเลี้ยง

1. อัตราการปล่อยปลาดุกลูกผสม (บิ๊กอุย) ลูกปลาขนาด 2 - 3 ซม. ควรปล่อยประมาณ 40 - 100 ตัว / ตรม. ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการเลี้ยง คือชนิดของอาหาร ขนาดของบ่อและระบบการเปลี่ยนถ่ายน้ำซึ่งปกติทั่ว ๆ ไป อัตราปล่อยเลี้ยงประมาณ 50 ตัว/ตรม.และเพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลาใช้น้ำยาฟอร์มาลินใส่ในบ่อเลี้ยง อัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน (3 ลิตร/น้ำ 100 ตัน) ในวันที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหาร ควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น
2. การให้อาหาร เมื่อปล่อยลูกปลาดุกผสมลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงที่ลูกปลาดุกผสมลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงที่ลูกปลาดุกมีขนาดเล็ก ( 2 - 3 ซม.) ควรให้อาหารผสมคลุกน้ำปั้นเป็นก้อนให้ลูกปลากิน โดยให้กินวันละ 2 ครั้ง หว่านให้กินทั่วบ่อโดยเฉพาะในบริเวณขอบบ่อ เมื่อลูกปลามีขนาดโตขึ้นความยาวประมาณ 5 - 7 ซม. สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้หลังจากนั้นเมื่อปลาโตขึ้นจน มีความยาว 15 ซม. ขึ้นไปจะให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียวหรืออาหารเสริมชนิดต่าง ๆ ได้ เช่นปลาเป็ดผสมรำละเอียดอัตรา 9 : 1 หรือให้อาหารที่ลดต้นทุน เช่น อาหารผสมบดจากส่วนผสมต่าง ๆ เช่น กระดูกไก่ ไส้ไก่ เศษขนม ปังเศษเส้นหมี่ เศษเลือดหมู เลือด ไก่ เศษเกี้ยว หรือเศษอาหารต่าง ๆ เท่าที่สามารถหาได้ นำมาบดรวมกันแล้วผสมให้ปลากิน แต่การให้อาหารประเภทนี้จะต้องระวังเรื่องคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงให้ดี เมื่อลูกปลาเลี้ยงได้ประมาณ 3 - 4 เดือนปลาจะมีขนาดประมาณ 200 - 400 กรัม/ตัว ซึ่งผลผลิตที่ได้จะประมาณ 10 -14 ตัน/ไร่ อัตรารอดตายประมาณ 40 - 70%
3.การถ่ายเทน้ำเมื่อตอนเริ่มเลี้ยงใหม่ ๆ ระดับความลึกของน้ำในบ่อควรมีค่าประมาณ 10 - 40 ซม. เมื่อลูกปลาเจริญเติบโตขึ้น ในเดือนแรกจึงเพิ่มระดับน้ำสูงเป็นประมาณ 50 - 60 เซนติเมตร หลังจากย่างเข้าเดือนที่สองควรเพิ่มระดับน้ำให้สูงขึ้น 10 เซนติเมตร/อาทิตย์ จนระดับน้ำในบ่อมีความลึก 1.20 - 1.50 เมตร การถ่ายเทน้ำควรเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงผ่านไปประมาณ 1 เดือน โดยถ่ายน้ำประมาณ 20 % ของน้ำในบ่อ 3 วัน/ครั้ง หรือถ้าน้ำในบ่อเริ่มเสียจะต้องถ่ายน้ำมากกว่าปกติ

โรคของปลาดุกเลี้ยง ในกรณีที่มีการป้องกันอย่างดีแล้วแต่ปลาก็ยังป่วยเป็นโรค ซึ่งมักจะแสดงอาการให้เห็น โดยแบ่งอาการของโรคเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
1. อาการ ติดเชื้อจากแบคทีเรีย จะมีการตกเลือดมีแผลตามลำตัวและครีบ ครีบกร่อน ตาขุ่น หนวดหงิกกกหูบวม มีน้ำในช่องท้อง กินอาหารน้อยลง หรือไม่กินอาหาร ลอยตัว
2. อาการจากปรสิตเข้าเกาะตัวปลาจะมีเมือกมาก มีแผลตามลำตัว ตกเลือด ครีบเปื่อย จุดสีขาวตามลำตัว สีตามลำตัวซีดหรือเข้มผิดปกติเหงือกซีดว่ายน้ำทุรนทุราย ควงสว่านหรือไม่ตรงทิศทาง
3. อาการจากอาหารมีคุณภาพไม่เหมาะสม คือ ขาดวิตามินซี กระโหลกร้าว บริเวณใต้คางจะมีการตกเลือด ตัวคด กินอาหารน้อยลง ถ้าขาดวิตามินบีปลาจะว่ายน้ำตัวเกร็งและชักกระตุก
4. อาการจากคุณภาพน้ำในบ่อดิน ไม่ดี ปลาจะว่ายน้ำขึ้นลงเร็วกว่าปกติลอยหัวครีบกร่อนเปื่อยหนวดหงิก เหงือกซีดและบวม ลำตัวซีด ไม่กินอาหาร ท้องบวม มีแผลตามตัว

อนึ่ง ในการรักษาโรคปลาควรจะได้พิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินในการเลือกใช้ยาหรือสารเคมี สาเหตุของโรค ระยะรักษา ค่าใช้จ่ายในการรักษา
5. การป้องกันโรค การเกิดโรคของปลาดุกที่เลี้ยงมักจะเกิดจากปัญหาคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุของการให้อาหารมากเกิน ไปจนอาหารเหลือเน่าเสีย เราสามารถป้องกัน ไม่ให้เกิดโรคได้โดยต้องหมั่นสังเกตว่าเมื่อหยุดกินอาหารจะต้องหยุดให้อาหารทันที เพราะปลาดุกลูกผสมนิสัยชอบกินอาหารที่ให้ใหม่โดยถึงแม้จะกินอิ่มแล้วถ้าให้อาหารใหม่อีก ก็จะคายหรือสำรอกอาหารเก่าทิ้งแล้วกินอาหารที่ให้ใหม่อีก ซึ่งปริมาณอาหารที่ให้ไม่ควรเกิน 4 - 5 % ของน้ำหนักตัวปลา

วิธีป้องกันการเกิดโรค
ในปลาดุกลูกผสมที่เลี้ยง
1.ควรเตรียมบ่อและน้ำตามวิธีการที่เหมาะสมก่อนปล่อยลูกปลา
2. ซื้อพันธุ์ปลาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ว่าแข็งแรงและปราศจากโรค
3. หมั่นตรวจดูอาการของปลาอย่างสม่ำเสมอถ้าเห็นอาการผิดปกติต้องรีบหาสาเหตุและแก้ไขโดยเร็ว
4. หลังจากปล่อยหลาเลี้ยงแล้ว 3 - 4 วัน ควรสาดน้ำยาฟอร์มาลิน 2 - 3 ลิตร/ปริมาตรน้ำ 100 ตันและหากปลาที่เลี้ยงเกิดโรคพยาธิภายนอกให้ แก้ไขโดยสาดน้ำยาฟอร์มาลินในอัตรา 4 - 5 ลิตร/ปริมาตร น้ำ 100 ตัน
5. เปลี่ยนถ่ายน้ำจากระดับก้นบ่ออย่างสม่ำเสมอ
6. อย่าให้อาหารจนเหลือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น