วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การเลี้ยงไก่ไข่

วิธีเริ่มต้นเลี้ยงไก่ไข่
ผู้เลี้ยงที่ยังไม่มีความรู้ความชำนาญงานประเภทนี้ ควรเริ่มต้นหัดเลี้ยงด้วยไก่จำนวนน้อย เพื่อศึกษาหาความรู้ความชำนาญเสียก่อน สำหรับผู้ที่มีความรู้ความชำนาญแล้ว อาจเริ่มต้นเลี้ยงตามขนาดของทุนและสถานที่ ถ้าเริ่มต้นด้วยไข่ฟัก หรือลูกไก่ ก็ย่อมลงทุนถูก หากเริ่มต้นด้วยไก่ใหญ่ ก็อาจะต้องใช้ทุนมากขึ้น โดยทั่วไปผู้เลี้ยงอาจเริ่มจากระยะไหนก็ได้ อาทิเช่น
1. เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงลูกไก่อายุ 1 วัน เป็นวิธีที่มีผู้เลี้ยงนิยมกันมากเนื่องจากทุนน้อย ผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงไก่ได้ตลอดเวลาด้วยตัวเอง สามารถที่จะดูแลเอาใจใส่ได้อย่างเต็มที่ ได้รู้ประวัติของไก่ทั้งฝูงตลอดเวลา จึงทำให้ได้ฝึกฝนการเลี้ยงไก่และมีความมั่นใจในการเลี้ยงไก่มากขึ้น แต่การเลี้ยงแบบนี้ต้องใช้เวลานานกว่าไก่จะให้ไข่ เพราะต้องเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งเป็นงานที่ยุ่งยากและใช้ความชำนาญค่อนข้างสูง อีกทั้งยังต้องเสี่ยงต่อการตายของไก่ในระยะแรกๆ และจะต้องรอไปอีกเป็นเวลาอย่างน้อยถึง 22 สัปดาห์ ไก่จึงจะเริ่มให้ไข
2. เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงไก่รุ่นอายุ 2 เดือน เป็นวิธีที่นิยมกันในปัจจุบัน โดยการที่ผู้เลี้ยงซื้อไก่รุ่นอายุ 6 สัปดาห์ - 2 เดือน มาจากฟาร์มหรือบริษัทที่รับเลี้ยงลูกไก่ เนื่องจากลูกไก่ในระยะนี้ราคายังไม่แพงมากนัก และสามารถตัดปัญหาในเรื่องการเลี้ยงดูลูกไก่และการกกลูกไก่ การเลี้ยงไก่รุ่นอายุ 2 เดือนนี้ มักจะให้อาหารที่มีคุณภาพค่อนข้างต่ำ ราคาถูก การเลี้ยงดูก็ไม่ต้องใช้ความชำนาญมากนัก ผู้ที่เริ่มต้นเลี้ยงไก่เป็นครั้งแรก จึงสมควรเริ่มเลี้ยงด้วยวิธีนี้
3. เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงไก่สาว เป็นวิธีที่ผู้เลี้ยงไก่เป็นอาชีพหรือเพื่อการค้านิยมกันมาก เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาเลี้ยงดูไก่เล็กหรือไก่รุ่น นอกจากนี้โรงเรือนก็สร้างไว้เฉพาะกับไก่ไข่เท่านั้น แต่การเลี้ยงไก่วิธีนี้ต้องลงทุนสูง ผู้เลี้ยงจะต้องรู้จักฟาร์มที่ผลิตไก่สาวเป็นอย่างดี ต้องสอบถามถึงประวัติของฝูงไก่สาวที่นำมาเลี้ยงเสมอ เพราะช่วงที่ไก่ยังเป็นลูกไก่และไก่รุ่นผู้เลี้ยงไม่สามารถรู้ประวัติของฝูง ไก่สาวที่จะนำมาเลี้ยงได้
การเลี้ยงดูไก่เล็ก

การเลี้ยงดูไก่เล็ก (อายุ 1 วัน-16 สัปดาห์)
การเลี้ยงไก่ในระยะนี้เป็นระยะที่มีความสำคัญมาก ต้องดูแลและเอาใจใส่อย่างมาก เพื่อให้ลูกไก่มีสุขภาพดี สมบูรณ์แข็งแรง และอัตราการเลี้ยงรอดสูง ควรจัดการดังนี้
1. เมื่อนำลูกไก่มาถึงฟาร์มต้องนำเข้าเครื่องกกโดยเร็วที่สุด และเตรียมน้ำสะอาดพร้อมให้กินทันที ถ้าลูกไก่ยังไม่รู้จักที่ให้น้ำต้องสอนโดยการจับไก่เอาปากจุ่มน้ำ 2-3 ครั้ง ควรผสมยาปฏิชีวนะหรือวิตามินให้ลูกไก่กินติดต่อกัน 2-3 วันแรก แต่ถ้าลูกไก่มีลักษณะนอนฟุบ อ่อนเพลียมาก ควรผสมน้ำตาลทรายลงในน้ำผสมยาปฏิชีวนะในอัตรา 5-10% ในระยะ 12 ชั่วโมงแรก
2. เมื่อลูกไก่เข้าเครื่องกกได้ 2-3 ชั่วโมง หรือลูกไก่เริ่มกินน้ำได้แล้วจึงเริ่มให้อาหารไก่ไข่เล็ก โดยโปรยลงบนถาดอาหาร พร้อมทั้งเคาะถาดเพื่อเป็นการเรียกลูกไก่ให้มากินอาหาร โดยให้กินแบบเต็มที่ ให้น้อยๆ แต่บ่อยครั้งอย่างน้อยวันละ 3-4 ครั้ง
3. ให้แสงสว่างในโรงเรือนเพียง 1-3 วันแรกเท่านั้น เพื่อให้ลูกไก่คุ้นเคยกับสถานที่ แต่ไฟที่ให้ควรเปิดสลัวๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ไก่เดินเล่นห่างเครื่องกก ภายในเครื่องกกต้องมีแสงไฟอยู่ตลอดเวลาในระยะ 1-3 สัปดาห์
4. หมั่นตรวจดูแลสุขภาพไก่โดยสม่ำเสมอ ตรวจอาหารและน้ำ ขวดน้ำต้องล้างและเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกวัน เปลี่ยนวัสดุรองพื้นที่ชื้นแฉะ และระวังอย่าให้ลมโกรก แต่อากาศต้องถ่ายเทได้สะดวก
5. ขยายวงล้อมกกให้กว้างออกไปตามความเหมาะสมทุกๆ 5-7 วัน พร้อมทั้งยกเครื่องกกให้สูงขึ้นเล็กน้อย และปรับอุณหภูมิของเครื่องกกให้ต่ำลงสัปดาห์ละ 5 องศาฟาเรนไฮด์
6. ทำวัคซีนตามกำหนด
7. ตัดปากลูกไก่เมื่ออายุ 6-9 วัน โดยตัดปากบนออกประมาณ 1 ใน 3 ของปาก และจี้ปากล่างด้วยใบมีดร้อนๆ
การตัดปาก มีจุดประสงค์เพื่อ

1.เพื่อป้องกันการจิกกัน
2.เพื่อลดประมาณการสูญเสียอาหารหกหล่น
การตัดปากที่ถูกวิธี
1.จับลูกไก่ไว้ในอุ้งมือ ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่หลังหัวลูกไก่
2.ใช้นิ้วหัวแม่มือกดหัวลูกไก่ให้อยู่นิ่ง
3.เลือกขนาดรูตัดที่เหมาะสมเพื่อตัดปากลูกไก่ประมาณ 2 มม. จากปลายจมูก
4.ใบมีดตัดปากต้องร้อนจนแดง เมื่อกดใบมีดตัดปากไก่แล้วจะต้องคงค้างไว้ประมาณ 2-3 วินาที เพื่อช่วยห้ามเลือด
การตัดปากไก่ไม่ดีนอกจากทำให้ไก่กินอาหารและน้ำลำบากแล้ว ปริมาณไข่จากไก่ตัวนั้นย่อมลดลง ดังนั้น การตัดปากควรทำอย่างประณีต ระยะเวลาตัดปากที่ดีที่สุดประมาณ 7-10 วัน ควรตัดปากให้ระยะจากจมูกออกมาไม่ต่ำกว่า 2 มม. ถ้าพบว่าการตัดปากไม่ดีควรทำการแต่งปากเมื่ออายุไม่เกิน 10 สัปดาห์
8. เมื่อกกลูกไก่ครบ 21 วัน ให้นำวงล้อมและเครื่องกกออก แต่ต้องระวังอย่าให้ลูกไก่ตื่น เพื่อป้องกันการเครียดก่อนจะเปิดวงล้อมออกต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ ดังนี้

-ที่ให้อาหาร ใช้แบบถังแขวนในอัตรา 3-4 ใบต่อไก่ 100 ตัว

-ที่ให้น้ำ ใช้แบบถังแขวน ในอัตราตามขอบราง 1 นิ้วต่อไก่ 1 ตัว แต่ทั้งที่ให้อาหารและที่ให้น้ำ ต้องคอยปรับให้อยู่ในระดับความสูงเท่ากับหลังไก่เสมอ
9. การให้กรวด กรวดมีความสำคัญต่อไก่ ในการช่วยบดอาหารที่มีขนาดโตให้ละเอียดขึ้น โดยเริ่มให้ไก่กินกรวดตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์ขึ้นไป โดยให้สัปดาห์ละครั้งๆ ละ ครึ่งกิโลกรัมต่อไก่ 100 ตัว
10. ควบคุมและป้องกันสัตว์อื่นๆ ไม่ให้มารบกวน
11. เริ่มชั่งน้ำหนักไก่จำนวน 5% ของฝูงเมื่ออายุ 6 สัปดาห์ จดบันทึกปริมาณอาหาร จำนวนไก่ตาย คัดทิ้ง สิ่งผิดปกติ การปฏิบัติงาน การใช้ยาและวัคซีนเป็นประจำ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาและคำนวณต้นทุนการผลิต
การเลี้ยงดูไก่รุ่น
การเลี้ยงดูไก่รุ่น (อายุ 7-14 สัปดาห์)
การเลี้ยงไก่ในระยะนี้ ส่วนใหญ่ไก่จะมีขนงอกเต็มตัวแล้ว และมีผลต่อเนื่องถึงการผลิตไก่สาวที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้เป็นแม่ไก่ที่ดี ให้ผลตอบแทนสูง ไก่จะต้องเจริญเติบโต มีโครงสร้างที่ดีมีอวัยวะส่วนที่ใช้ผลิตไข่ที่ดี ต้องไม่อ้วนหรือผอมเกินไป ไก่ร่าเริงแจ่มใส และแข็งแรง ควรจัดการดังนี้
1.ควรจัดเตรียมพื้นที่เลี้ยงในอัตราไก่ 5-6 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร
2. เมื่ออายุ 7 สัปดาห์ ให้เปลี่ยนอาหารจากไก่ไข่เล็กเป็นอาหารไก่ไข่รุ่น ให้อาหารแบบถังแขวนในอัตรา 4-5 ถังต่อไก่ 100 ตัว หมั่นปรับระดับที่ให้อาหารให้อยู่ในระดับหลังไก่เสมอ และทำความสะอาดที่ให้อาหารอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
3. จัดเตรียมที่ให้น้ำให้เพียงพอ โดยใช้ในอัตราตามขอบราง 1 นิ้ว ต่อไก่ 1 ตัว น้ำสะอาดจะต้องมีให้ไก่กินตลอดเวลา และทำความสะอาดที่ให้น้ำทุกวัน
4. ดูแลวัสดุรองพื้นอย่าให้แฉะหรือแข็งเป็นแผ่น หรือมีกลิ่นเหม็นของแก๊สแอมโมเนีย ต้องคุ้ยและพลิกกลับอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 2-3 วัน และทำความสะอาดบริเวณโรงเรือน พร้อมทั้งกำจัดวัชพืชรอบโรงเรือน
5. ชั่งน้ำหนักตัวไก่ จำนวน 5% ของฝูง ทุกสัปดาห์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานของไก่แต่ละสายพันธุ์ เพื่อลดหรือเพิ่มปริมาณอาหารที่จะให้
6. จดบันทึกเกี่ยวกับการจัดการ จำนวนอาหาร ไก่ตาย คัดทิ้ง การใช้ยาและวัคซีน สิ่งผิดปกติ และการปฏิบัติงาน
การเลี้ยงดูไก่สาว
การเลี้ยงดูไก่สาว (อายุ 15-20 สัปดาห์)
การเลี้ยงดูไก่สาวจะใกล้เคียงกับการเลี้ยงดูไก่รุ่น แต่ต้องควบคุมปริมาณอาหาร และน้ำหนักตัวไก่ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของไก่ไข่แต่ละสายพันธุ์ ควรจัดการดังนี้

1. เมื่อไก่อายุ 15 สัปดาห์ ให้เปลี่ยนอาหารจากไก่ไข่รุ่นเป็นไก่ไข่สาว
2. ควบคุมและกำจัดแมลงรบกวนต่างๆ
3. หมั่นตรวจสุขภาพไก่ ทำวัคซีนตามกำหนด และสุ่มชั่งน้ำหนักไก่จำนวน 5% ของฝูงทุกสัปดาห์
4. ในกรณีที่เลี้ยงแบบรวมฝูงเมื่อไก่อายุ 17-18 สัปดาห์ ควรติดตั้งรังไข่ ขนาดช่องล่ะ 8x12 นิ้ว ในอัตรา 1 ช่องต่อไก่ 4 ตัว
5. ในกรณีที่เลี้ยงแบบกรงตับ ให้ย้ายไก่ขึ้นกรงตับเมื่ออายุ 18-20 สัปดาห์
6. ควรมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด และจัดการด้านสุขาภิบาลที่ดี เพราะไก่กำลังจะเริ่มให้ผลผลิต ในการเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 20 สัปดาห์ อัตราการตายและคัดทิ้งไม่ควรเกิน 10%
7. ก่อนที่ทำการย้ายไก่ขึ้นกรงตับ ควรกำจัดเหาไร และถ่ายพยาธิก่อนไก่เริ่มให้ไข่ประมาณ 3-4 สัปดาห์
8. จดบันทึกลักษณะเดียวกับไก่รุ่น

การเลี้ยงดูไก่ไข่
การเลี้ยงดูไก่ไข่ (อายุ 21-72 สัปดาห์)

การเลี้ยงไก่ไข่ระยะนี้เป็นช่วงทีสำคัญที่สุดเพราะเป็นระยะที่ไก่ให้ผลผลิต โดยทั่วไปแล้วถ้าการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องไก่จะเริ่มให้ไข่เมื่ออายุ 20-21 สัปดาห์ ไก่จะเริ่มไข่ประมาณ 5% ของฝูง ควรจัดการดังนี้
1. เมื่อไก่เริ่มไข่ได้ 5% ของฝูง ควรเปลี่ยนอาหารจากไก่ไข่สาวเป็นไก่ไข่
2. การให้อาหารต้องเพียงพอกับความต้องการของไก่ และการให้ผลผลิตของไก่
3. ไก่ไข่จะให้ผลผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ และจะสูงสุดในช่วงอายุ 25-30 สัปดาห์ และจะค่อยๆ ลดลงอย่างช้า
4. ในกรณีเลี้ยงแบบกรงตับต้องจดบันทึกการไข่ทุกวัน เพื่อสะดวกในการคัดไก่ที่ไม่ให้ไข่ออกจากฝูง หรือถ้าเลี้ยงแบบปล่อยฝูงก็ต้องจดบันทึกจำนวนไข่ทุกวัน เพื่อคิดเปอร์เซนต์การไข่
5. การเก็บไข่ ควรเก็บด้วยความระมัดระวัง ใส่ในแผงไข่ที่สะอาด คัดแยกขนาดไข่และไข่บุบร้าว และเก็บไข่อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง สำหรับการเลี้ยงแบบปล่อยฝูง
6. หมั่นตรวจดูวัสดุรองพื้นทั้งที่พื้นและในรังไข่ อย่าให้ชื้นแฉะ หรือจับเป็นแผ่นแข็ง หากสกปรกมากควรเปลี่ยนใหม่
7. ด้านการสุขาภิบาลทำลักษณะเดียวกับไก่รุ่น
8. ข้อพึงระวังกรณีที่ฝูงไก่กินอาหารลดลงผิดปกติ อาจเกิดจากความเครียดหรือเจ็บป่วย ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ถ้าแก้ไขเองไม่ได้ควรปรึกษาสัตวแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญทันที การเลี้ยงไก่ไข่ต้องมีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา
9. การให้ผลผลิตของไก่ไข่ โดยทั่วไปจะให้ไข่ประมาณ 52 สัปดาห์ แต่ในเกษตรกรบางรายสามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้นานถึง 60 สัปดาห์ ซึ่งอยู่ที่การดูแล การจัดการที่ดี
10. การปลดไก่ไข่ออก ส่วนใหญ่จะทำเพื่อให้ผลผลิตไม่คุ้มทุน เช่น ให้ผลผลิตต่ำกว่า 60% ของฝูง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น